รวมบทความและคำสอน จากสาขาวิชาถ่ายภาพ ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL, BKK)

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพย้อนแสง

การถ่ายภาพย้อนแสง
            บ่อยครั้งที่นักถ่ายภาพไม่ว่าจะรุ่นเล็กรุ่นเก่ารุ่นเก๋า เกิดอาการหมดมุข หรือหมดมุม ขึ้นมาเวลาไปถ่ายภาพที่ไหนๆก็มองไม่เห็นมุมที่ถูกใจ มองไปทางไหนก็เห็นใครๆก็ถ่ายกันอยู่  ก็ต้องทำใจกันนิดหนึ่งครับ ในโลกของการถ่ายภาพ ไม่มีอะไรใหม่ และไม่มีอะไรเก่า สิ่งที่อยู่ตรงหน้าต่างหากคือ สิ่งสำคัญ ถ้าเรามองให้ดีมองให้ละเอียด ไม่ว่าจะที่ไหน ก็มีมุมดีๆ ให้เราได้เสมอ
สิ่งแรกๆที่นักถ่ายภาพทั้งหลายต้องพิจารณาให้ดีก่อนยกกล้องขึ้นมาก็คือแสงครับ แสงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพ เพราะเป็นเหตุปัจจัยแรกของการกำเนิดภาพ แสงจะให้อารมณ์ที่ต่างกันไปในแต่ละห้วงเวลา การใช้แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ภาพมีคุณภาพและสวยงามน่ามองครับ  โดยมากเราไม่มีเวลาให้กับสถานที่อะไร มากมายในการเผ้ารอแสง เวลาเดินทางก็ก็มีเวลาอันน้อยนิด ผมเลยมีมุมมองในรูปแบบหนึ่งมานำเสนอเพื่อว่าจะจุดประกายไอเดีย ให้กับเพื่อนๆนักถ่ายภาพ ได้บ้างครับ
ลูกเล่นหนึ่งที่ผมจะนำมาเสนอครั้งนี้ก็คือการ ถ่ายภาพย้อนแสง หรือภาพโครงทึบ ภาษาอังกฤษก็ Silhouetted photography  เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักถ่ายภาพว่าถ้าหันกล้องไปทางแหล่งแสง ก็คือพระอาทิตย์ แล้ววัดแสงข้างหลังให้กล้องย้อน หรือส่วนทางกับแหล่งแสงภาพที่ออกมาเป็นภาพโครงทึบ โดยมากมักจะ ถ่ายกันตอนเย็นๆ ไม่มีใครหันกล้องเข้าหาดวงอาทิตย์ตอนกลางวัน ห้ามเด็ดขาด เพราะเป็นอันตรายกับดวงตาของท่านครับ


ภาพนี้ผมถ่ายที่ เมือง Bergen Norway เวลาประมาณ 22.00 . ในฤดูใบไม้ผลิ ครับ เมืองนอกเขาโชคดีคือมีเวลายามเย็นแบบนี้นานครับ ผมวัดแสงที่ท้องฟ้า ได้ ความเร็วชัตเตอร์ 125 รูรับแสง   F 16 ซึ้งพอมาวัดที่พื้น ได้ ความเร็วชัตเตอร์ 125 รูรับแสง   F 4 ห่างกัน 5 สตอป ถ้าเราถ่ายพอดีที่พื้น แสงจะพอดีทั้งภาพ ภาพจะสว่างไปหมด รูปปั้นจะสว่าง แสงสีท้องฟ้าจะไม่เข้ม  ผมต้องการเน้นเงาโครงสร้างของรูปปั้นให้เป็นจุดเด่น เลยถ่ายภาพที่ท้องฟ้า ก็คือ F 8 ภาพที่ได้ก็เป็นภาพเงาดำสมใจ อ้อ ลืมบอกว่าผมใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดครับ วัดที่ท้องฟ้าแล้วค่อยมาวัดที่พื้นแล้วเลือกค่าที่ต้องการบันทึกตามนั้นด้วยโหมดแมนนวล ถ้าใช้ ออโต้ กล้องมักจะเลือกค่ากลางๆให้เรา
แต่เราไม่จำเป็นจะต้องรอพระอาทิตย์ตกเท่านั้นนะครับ การถ่ายภาพย้อนแสงมีวิธีสร้างสรรค์หลายรูปแบบครับ เมื่อไรที่เราถ่ายภาพโดยที่ฉากหลังสว่างกว่าตัวแบบ โดยที่วัดแสงที่ฉากหลัง แบบจะมืดไปโดยอัตโนมัติ นั้นหมายความว่าสิ่งที่ปรากฏจะเป็นแค่โครงรูปร่างและรูปทรง(Shape &Form) ของสิ่งที่จะถ่ายเท่านั้น เมื่อใดที่ต้องการถ่ายภาพในลักษณะนี้ เราต้องมองหารูปร่างและรูปทรงเสมอครับ เพราะความน่าสนใจของภาพจะอยู่ตรงนี้

ภาพนี้ถ่ายที่ โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา ในระหว่างนั้งเรือชมทะเลสาบเขมร ตอนเช้าๆ แดดแรงแต่ไม่ร้อน ผมนั้งหัวเรือเห็นเด็กชายมาช่วยคัดหัวเรือออกจากฝั่ง ผมยกกล้องขึ้น คิดไว้แล้วจะให้เป็นภาพที่เน้น โครงร่างของเด็กตัดกับท้องฟ้า  โดยใช้กรอบที่หัวเรือเป็นระยะหน้า ใช้ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ย ที่ส่วนใหญ่จะวัดที่ท้องฟ้า ซึ่งสว่างกว่าที่ตัวเด็ก ตัวเด็กก็เลยมืดไปโดยปริยาย

บางครั้งนักถ่ายภาพก็ต้องตาไวเหมือนกันนะครับ เวลาเห็นแสงสองมานี่ ลองคิดสักนิดว่าเราจะยืนอยู่ตรงไหน จะ ตามแสงจะย้อนแสง อย่างภาพนี้ ถ่ายที่ สวนสาธารณะ Luxemburgใจกลางกรุงปารีส  ประเทศผรังเศษ  ผมเดินอยู่เห็นคนนั้งอ่านหนังสืออยู่บนม้ายาวก็ไม่ได้สนใจจะถ่ายภาพเพราะเห็นตามแสง แต่พอเดินอ้อมมาด้านหลังเห็นแสงที่ส่องผ่านแมกไม้ผ่านคนที่นั้งอยู่เป็นมุมมองที่สวยงาม ที่เน้นภาพโครงทึบของคน ม้านั้ง และหมู่ต้นไม้ ผมกดชัตเตอร์ทันที่ โดยใช้การวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลางเพราะกล้องมีระบบวัดแสงแบบเดียว โดยวัดที่แสงที่ตกลงมาครับอย่าไปวัดที่ตัวคนหรือในเงามืด มันจะไปพอดีในเงา ภาพจะสว่างไปครับ
การถ่ายภาพย้อนแสงนั้นบางที่ก็สามารถเพิ่มรายละเอียดในส่วนของเงา(Shadow) ได้ จะทำให้ภาพน่าสนใจขึ้น บ่อยครั้งก็ทำให้ภาพน่าสนใจขึ้น สิ่งเหลานี้ท่านนักถ่ายภาพต้องคิดไว้ก่อนนะครับ ว่าจะเลือกมุม จะเพิ่มเติมรายละเอียดของแสงมากน้อยแค่ไหน ก่อนกดชัตเตอร์์ ก็น่าคิดไว้คร่าวๆว่าอยากให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร 

อย่างเช่น ภาพหอ ไอเฟล ที่ประเทศฝรังเศษ นี่ผมคิดว่า มีคนถ่ายถาพมาเป็นล้านแน่ๆ ทำอย่างไรภาพมันจะไม่ซ้ำซากจนเกินไปนัก สำหรับตัวเอง ครั้นจะถ่ายมุมที่คนไม่เคยถ่ายเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ก็ลองมองดูรอบๆเดินไปเดินมา ก็สะดุดตากับโครงสร้างเหล็กที่สอดประสานกันอย่างลงตัว ยกกล้องฟิลม์ขาวดำที่ติดเลนส์ นอร์มอล 45มม. วัดแสงที่ท้องฟ้าข้างหลังเป็นหลัก ได้ 16 วัดที่โครงเหล็กได้ 8ผมถ่ายที่ 11ครึ่ง ชดเชยแสงให้รายละเอียดในที่มืด และกะว่าจะเอามาช่วยในห้องมืดครับ แต่พอตอนอัดออกมา กับไม่ต้องทำอะไรเลย รายละเอียดที่ต้องการก็อยู่ ส่วนที่อยากให้มืดก็มืดสมใจ
การถ่ายภาพย้อนแสงก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างสรรค์ ที่น่าสนใจในการถ่ายภาพสิ่งที่จะทำ ให้ภาพออกมาน่าสนใจก็คือรูปร่างและรูปทรงของสิ่งที่ปรากฏในภาพ ท่านนักถ่ายภาพต้องพิถีพิถันสักหน่อยในการเลือกมุมมอง คิดภาพที่อยากได้ไว้ก่อนเสมอ แล้วท่านก็จะมีมุมภาพถูกใจตัวเอง ที่ไม่เหมือนใครเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม